Google Analytics มีเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถเขียนโน้ตเล็กๆเอาไว้ที่กราฟได้ เป็นโน๊ตข้อความที่ระบุว่าในเวลานั้นมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีกิจกรรมอะไรที่อาจจะส่งผลต่อข้อมูลที่เรากำลังวัดผลอยู่ เครื่องมือนี้เรียกว่า Annotations แม้ว่ามันจะเป็นเครื่องมือพื้นฐานแต่หลายๆคนก็มักจะมองข้ามและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมัน บทความนี้ผมจะอธิบายวิธีการใช้งานรวมถึงประโยชน์ของมันกันครับ

Annotations คืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร
ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆผมอยากให้คุณลองนึกภาพเวลาที่คุณเข้า Google Analytics เพื่อเข้าไปดู Report ต่างๆในหน้าเพจของแต่ละ Report นั้นจะมีกราฟที่แสดงค่าของข้อมูลอยู่เหนือตารางวัดผล ลองนึกถึงเวลาที่คุณดูกราฟนั้นย้อนหลังกลับไปหลายๆวัน คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมค่าของข้อมูลในบางวันจึงพุ่งปรี้ดสูงผิดปกติ หรือทำไมบางวันข้อมูลจึงดิ่งต่ำลงอย่างผิดปกติ นั่นก็เป็นเพราะว่าในบางครั้งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างกับเว็บไซต์หรือทำอะไรบางอย่างกับ Media ที่เราใช้
ยกตัวอย่างเช่นสมมุติว่าผมกำลังดูกราฟที่แสดงข้อมูลย้อนหลังของ Session ที่เข้าชมเว็บไซต์ของผมอยู่นั้น ผมก็สังเกตว่าอยู่ดีๆจำนวน Session ตั้งแต่วันที่ 5 Jul ดิ่งลงไปจนเกือบจะเป็น 0 นั่นเป็นเพราะช่วงนั้นผมทำการแก้ไข Code หลังบ้านนิดหน่อยจนทำให้ Analytics Tag ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลได้ ในกรณีนี้ถ้าผมไม่ทำ Annotation เอาไว้ ในอนาคตเมื่อผมย้อนกลับมาดูกราฟนี้อีกครั้ง ผมอาจจะจำไม่ได้ว่าในช่วงเวลานั้นมันมีอะไรเกิดขึ้นกับเว็บไซต์ทำไมอยู่ดีจำนวน Session จึงตกวูบดิ่งไป
นี่คือประโยชน์ของ Annotation ครับมันจะช่วยให้เราเขียนบันทึกเอาไว้ในกราฟได้ว่าในช่วงเวลานั้นๆเราทำการเปลี่ยนแปลงหรือทำกิจกรรมอะไรไปบ้าง ซึ่งในอนาคตเวลาที่เราย้อนกลับไปดูกราฟจะได้ลำดับเหตุการณ์และหาเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้อย่างถูกต้อง
จะใช้ Annotation ได้อย่างไร
- วิธีการใช้ Annotation ก็ไม่ยากอะไรเลยครับ เพียงแค่เข้าไปใน Report ที่เราดูข้อมูลตามปกติแล้วกดที่ลูกศรเลื่อนลง (ด้านล่างของกราฟ) แล้วคลิกที่ Create new annotation
- เลือกวันที่ แล้วใส่ข้อความที่จะโน๊ตลงไป จากนั้นในส่วน Visibility เราสามารถเลือกได้ว่าจะแชร์ให้คนอื่นๆ (คนที่มีสิทธิเข้าถึง Analytics ไอดีเดียวกัน) อ่านด้วยได้หรือไม่หรือจะเป็นแบบ Private คืออ่านส่วนตัวของเรา จากนั้นให้กดที่ปุ่ม Save เพื่อบันทึก Annotation
- เมื่อกด Save เรียบร้อยแล้ว จะมีเครื่องหมายคำพูดเล็ก โพล่ขึ้นมาในกราฟ ซึ่งเราสามารถกลับมาอ่านได้ในภายหลังว่าในแต่ละช่วงเวลามีการทำกิจกรรมใดลงไปบ้าง
เราสามารถนำเอา Annotation ไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายๆสถานการณ์ โดยเฉพาะคนที่ทำงานกับเว็บไซต์ขนาดใหญ่ที่ต้องมีฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลายๆฝ่ายกับการเข้ามาทำ Analyse ข้อมูลใน Google Analytics การใส่ Annotation เอาไว้จะช่วยให้อธิบายคนอื่นๆได้ดีมากๆ และต่อไปนี้เป็นแนวทางตัวอย่างครับ
- ทำการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับ Code เบื้องหลังเว็บไซต์
- ออกแคมเปญทางการตลาดใหม่
- เพิ่มจำนวน Budget ในการซื้อโฆษณาผ่าน Media ต่างๆ
- บันทึกการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆเป็นลำดับขั้นของเวลา
หวังว่าจะเป็นแนวทางให้คนที่ใช้ Google Analytics นำไปใช้ประโยชน์กันมากยิ่งขึ้นนะครับ