ถามกันจริ๊งง Google Analytics ทำอะไรได้บ้าง มาอ่านนี่เลย!


สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้มีเพื่อนผมคนหนึ่งโทรมาสอบถามเกี่ยวกับ Google Analytics เนื่องจากเพื่อนคนนี้กำลังลุยโปรเจคเว็บไซต์และต้องการใส่ GA เข้าไปเพื่อวัดผลข้อมูล แต่ด้วยความที่มันเป็นโปรแกรมเมอร์จ๋าๆ ทำให้มันไม่ค่อยคุ้นเคยกับเครื่องมือการตลาดสักเท่าไหร่ คำถามที่ผมได้รับจึงเป็นคำถามที่ผมกลัวมากที่สุดนั่นคือ

“เห้ยนัท!! Google Analytics ทำอะไรได้บ้างวะ?”

สาเหตุที่ผมกลัวคำถามนี้เพราะว่า มันเป็นคำถามที่ต้องใช้เวลาในการตอบนานแน่ๆ เนื่องจากความสามารถของ Google Analytics นั้นมีเยอะมาก หรือเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเจ้าของเว็บไซต์ทุกคน ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณจะทำเว็บไซต์แบบขำๆไม่ได้หวังผลอะไร ผมก็เลยบอกเพื่อนนักโปรแกรมเมอร์คนนี้ไปว่า “เดี๋ยวไปเขียนบทความในบล็อกให้อ่านละกัน”

และด้านล่างนี้เป็นคำตอบของคำถามที่ว่า Google Analytics (หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า GA) ทำอะไรได้บ้าง ผมรวบรวมมาให้อ่านเป็นข้อๆแบบสรุปๆก็แล้วกันนะครับ พยายามจะรวบรวมสิ่งที่ Analytics ทำได้ใส่ลงไปให้หมด ถ้าใครอ่านแล้วเห็นว่าขาดตกเรื่องไหนไป สามารถมาท้วงติงได้เลยนะครับ เดี๋ยวผมใส่เพิ่มเข้าไปให้

ความสามารถของ Google Analytics

มาดูกันว่าทำ Google Analytics ทำอะไรได้บ้าง

  • สามารถใช้ GA เพื่อวิเคราะห์ว่า User เข้าเว็บไซต์ของเราโดยผ่านมาจากที่ไหน และช่องทางใดที่นำพา User เข้ามายังเว็บไซต์ของเรา เช่น User อาจจะมาจาก Social หรือมาจาก Google หรือมาจาก Pantip คุณสามารถใช้ GA เพื่อวิเคราะห์ได้ทั้งหมด
  • ใช้เพื่อวิเคราะห์ Demographic ของผู้เข้าชมเว็บไซต์ว่ามีอายุเท่าไหร่ เพศอะไร อาศัยอยู่ที่ไหน และมีความสนใจเรื่องอะไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์มากๆในการวิเคราะห์ว่าคนที่ชอบเว็บไซต์ของเราเป็นคนที่มีลักษณะอย่างไร เพื่อที่จะได้นำไปทำการตลาดที่ตรงกลุ่มเป้าหมายได้ในอนาคต
  • GA สามารถให้ Behavioural data เพื่อนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งานในเว็บไซต์ได้เช่น ใช้เวลาในเว็บไซต์ของเรานานแค่ไหน เปิดเว็บเพจของเรากี่หน้า และเข้ามาทำอะไรในเว็บไซต์ของเราบ้าง
  • ใช้เพื่อตรวจสอบว่าผู้เข้าชมเว็บไซต์ใช้อุปกรณ์อะไรกันบ้างและเปิดเว็บไซต์ของเราด้วย Browser อะไร ระบบปฏิบัติการอะไร เพื่อที่จะได้พัฒนาเว็บไซต์ให้ตรงกับสิ่งที่ผู้เข้าชมใช้กัน
  • ตั้ง Goal เพื่อวัดเป้าหมายของเว็บไซต์ได้ เช่นเราอาจจะตั้ง Goal เป็นการสมัครสมาชิกเว็บไซต์ หลังจากนั้นก็คอยวัดผลว่ามีผู้ชมทำการสมัครสมาชิกเว็บไซต์มากน้อยแค่ไหน (Goal Complete) พร้อมการวิเคราะห์ Funnel ว่าถ้าหากเป้าหมายไม่สำเร็จ ส่วนใหญ่แล้ว User หลุดออกไปที่ส่วนไหนของ Funnel
  • วิเคราะห์พฤติกรรมของ User ได้ว่าเขาไปเปิดหน้าเพจในไหนเว็บไซต์ขึ้นมาดูบ้าง User เข้าเว็บไซต์ของเราที่หน้าเพจไหน ใช้เวลาอยู่ในหน้าเพจนั้นนานเท่าไหร่ ไปหน้าเพจไหนต่อ แล้วออกจากเว็บไซต์ที่หน้าเพจไหน เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า User ส่วนใหญ่ชอบอะไรในเว็บไซต์ของเราด้วยการตรวจสอบว่า User ส่วนใหญ่เข้าไปยังหน้าเพจไหนบ้าง
  • สามารถวัดความเร็วของเว็บไซต์ได้ ซึ่งถ้าจำได้ความเร็วเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการจัดอันดับ SEO แน่นอนว่า GA มันสามารถบอกได้เลยว่าแต่ละหน้าเพจใช้เวลาโหลดนานแค่ไหน สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด หรือสามารถเปรียบเทียบความเร็วแต่ละหน้าเทียบกับค่าเฉลี่ยของเว็บไซต์ได้ถ้าหน้าเพจไหนโหลดนานกว่าค่าเฉลี่ยมากๆอาจจะลองเข้าไปแก้ไขหน้าเพจนั้นดู
  • ใช้ GA วิเคราะห์แคมเปญ Google Adwords ได้ ถ้าคุณทำการเชื่อม GA กับ Adwords เข้าด้วยกันแล้ว มันจะทำการดึงข้อมูลแคมเปญโฆษณาที่สร้างเอาไว้ใน Adwords มารายงานได้โดยอัตโนมัตินั้นหมายความว่าคุณสามารถวัดผลแบบรวมศูนย์อยู่ในทีเดียวได้สะดวกมากๆ
  • ใช้ GA วิเคราะห์แคมเปญการตลาดที่มาจากช่องทางต่างๆนอกเหนือไปจาก Adwords ได้เช่น แคมเปญโฆษณาที่ทำใน Facebook, Instagram, Twitter, Ad Network
  • อ่านข้อมูลจาก Google Search Console ได้ คล้ายๆกันกับ Adwords คือถ้าทำการเชื่อม GA กับ Search Console แล้วสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับ SEO ผ่าน Google Analytics ได้เลย
  • ทำ Event Tracking ได้เพื่อวิเคราะห์ว่าคนเข้าเว็บไซต์ทำกิจกรรมที่มีความสำคัญในเว็บไซต์ของเรามากแค่ไหน (ภาษาคอมพิวเตอร์เรียกว่า Event) เช่นการดาวน์โหลดไฟล์ การกดเล่นวิดีโอ การคลิกที่ปุ่มที่มีความสำคัญ รวมถึงใช้เพื่อวิเคราะห์ว่าแต่ละ Event ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร
  • ทำ E-commerce Tracking ได้ อีกหนึ่งประโยชน์ของ GA สำหรับการใช้ร่วมกับเว็บไซต์ขายของออนไลน์ก็คือมันสามารถวัดผล E-comerece Tracking ได้ทำให้เรารู้พฤติกรรมของลูกค้าในเว็บไซต์ได้มากยิ่งขึ้น รู้ยอดขายของสินค้า รู้ว่าใครมักจะซื้ออะไรร่วมกับอะไร
  • ทำ Enhanced E-commerce ได้ เป็นขั้นที่เหนือกว่า E-commerce Tracking แบบธรรมดาเพราะสามารถช่วยให้เจ้าของเว็บไซต์ทำการวัดผลถึงระดับปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้ที่มีต่อเว็บไซต์ E-commerce ได้ละเอียดมากยิ่งขึ้นแต่ก็แลกมาด้วยการ Implement โค้ดลงเว็บไซต์ที่ยากกว่าเดิมเช่นกัน
  • ทำ A/B Testing ด้วยฟีเจอร์ Experiment ได้ ถึงแม้ว่าการทำ A/B Testing ใน Google Analytics อาจจะไม่ได้สะดวกและดีไปกว่าเครื่องมือที่มันเกิดขึ้นมาเพื่อ A/B Testing จริงๆ แต่ข้อดีของมันคือสามารถวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอื่นๆที่อยู่ภายใน Analytics ได้เลยและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • วิเคราะห์คำค้นหาที่อยู่ในเว็บไซต์ผ่านฟีเจอร์ Site Search บางเว็บไซต์จะมีช่องสำหรับให้ User ค้นหาข้อมูลที่อยู่ในเว็บไซต์ เราสามารถใช้ GA เพื่อวิเคราะห์ดูว่า User ส่วนใหญ่ค้นหาอะไรกันบ้าง

แค่อ่านก็เหนื่อยแล้ว 555 ใช้จริงๆให้ครบทุกอันนี่เหนื่อยยิ่งกว่า

สมมุติว่ามีใครมาถามคุณด้วยคำถามเดียวกับที่ผมเจอ แนะนำให้เอาบทความนี้ส่งให้เขารับรองว่าหายสงสัยแน่นอน 555 เพราะมันทำได้เยอะมาก เยอะจนจุกเลยทีเดียว GA เป็นเครื่องมือฟรีที่มีประโยชน์มากๆจริงๆ


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *